อินโดนีเซียยกระดับสงครามยาเสพติดด้วยการสถาปนาสำนักงานยาเสพติด

นายบูดี วาเซโซ ผู้อำนวยการสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติ (กลาง)
ข่าวประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่าสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย จะถูกสถาปนาขึ้นเป็นองค์กรในระดับกระทรวงเป็นสัญญาณให้เห็นถึงเจตนาของรัฐบาลที่จะยกระดับการต่อสู้กับการค้ายาเสพติด
ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซียกล่าวว่าการเลื่อนขั้น สำนักงานยาเสพติดแห่งชาติขึ้นเป็นหน่วยงานที่อยู่ในระดับเดียวกับกระทรวงใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเงินทุน สิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ต่างๆของสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติ รวมถึงการพัฒนากฎหมายต่อเนื่องจากปี ค.ศ. 2009 ซึ่งมีการก่อตั้งสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อการบังคับใช้กฎหมายด้านการป้องกันการใช้ยาเสพติด การบำบัดยาเสพติด การสร้างพลังชุมชน และในที่สุดคือการขจัดสิ้นยาเสพติด
โฆษกของสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับหน่วยงานนี้ โดยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวเทมโปว่า “สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือจะมีการพัฒนายุทธศาสตร์ขจัดสิ้นยาเสพติด และจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดจะลดลง”
การวางแผนปรับเปลี่ยนสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติให้เป็นองค์กรในระดับกระทรวงนั้นริเริ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนับตั้งแต่นายกอรีส์ เมียร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2012 และการแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่คือนายบูดี วาเซโซในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 ก็ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเป็นความพยายามรูปแบบใหม่
นายวาเซโซเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสืบสวนแห่งชาติ ได้เปิดประเด็นโต้เถียงในเชิงกระทบกระแทก โดยเสนอให้มีการกักขังผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดในเรือนจำที่ตั้งอยู่บนเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยจระเข้ เขายังเสนอแนะอัยการของอินโดนีเซียว่าไม่ควรที่จะแยกระหว่างผู้ใช้ยาเสพติดกับผู้ค้า โดยอ้างว่าการแยกทั้งสองกลุ่มออกจากกันจะทำให้ผู้ค้ายาเสพติดเลี่ยงบทลงโทษด้วยการแฝงตัวว่าเป็นผู้ที่กำลังประสบปัญหาจากการใช้ยาเสพติด ข้อเสนอแนะนี้มีขึ้นแม้ว่ากฎหมายของอินโดนีเซียจะมีแนวทางที่ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องปริมาณยาเสพติดที่ผู้ใช้ยาครอบครองก่อนที่จะถูกจัดกลุ่มว่าเป็นผู้ค้า
ดูเหมือนว่าอีกไม่นานสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น นับเป็นแนวโน้มสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากในประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งประกาศจุดยืนชัดเจนว่าการใช้ยาเสพติดเป็นสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ระดับชาตินับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และได้ให้คำปฏิญาณว่าจะปฏิเสธคำขอผ่อนผันสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตจากคดียาเสพติด อันที่จริงในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีวิโดโด ได้มีการประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดไปแล้วหกรายซึ่งเป็นชาวต่างชาติห้ารายในเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 และยังมีอีกแปดรายที่ถูกประหารชีวิตจากคดีเหล่านี้ตลอดทั้งปี
ผลจากการเพิ่มความแข็งกร้าวในนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ของประเทศ รวมถึงการฝ่าฝืนกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติในการใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษคดียาเสพติด รัฐบาลอินโดนีเซียได้ถูกประณามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลประเทศอื่นๆ หน่วยงานของสหประชาชาติ รวมทั้งจากนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ
แต่ถึงกระนั้น การประท้วงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็ถูกมองข้ามไป ในเวลาเดียวกันกับที่มีการเสนอให้เลื่อนขั้นสำนักงานยาเสพติดแห่งชาติ ก็ได้มีการประกาศประหารชีวิตนักโทษครั้งที่สามในวันที่ 18 มีนาคม เน้นย้ำถึงการที่รัฐบาลยืนกรานจะดำเนินแนวทางลงโทษเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีหลักฐานหรือการวิงวอนให้ดำเนินการในทางตรงกันข้าม อันที่จริงรัฐบาลได้เริ่มมีทีท่าแก้ต่าง ด้วยการกำหนดกรอบของประเด็นนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
“การบังคับใช้กฎหมายของเราเป็นเช่นนี้ เราจะบังคับใช้กฎหมายนี้ในประเทศของเราเอง และกฎหมายของอินโดนีเซียก็จะยังคงใช้บังคับใช้โทษประหารชีวิต” อัยการสูงสุดของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา เขาอ้างว่าการระงับปฏิบัติการในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพราะการกดดันจากนานาชาติ แต่เป็นปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นจาก “ช่วงฤดูฝน”
การแข็งข้อเช่นนี้เป็นภาพที่สิ้นหวังสำหรับผู้ที่กำลังปฏิรูปกฎหมายด้านยาเสพติดในประเทศอินโดนีเซีย หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้เป็นการหยุดยั้งยาเสพติดและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต่างถูกรัฐบาลเพิกเฉย และจากการเพิ่มอำนาจให้กับนายบูดี วาเซโซ สำนักงานยาเสพติดแห่งชาตินั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลายุ่งยากของประเทศในอนาคต
*ดวงตาศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์สาธารณสุข โดยเน้นประเด็นการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในประเทศไทย ปัจจุบันทำงานประจำด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ควบคู่ไปกับการเป็นนักแปล