เวียดนามเริ่มให้บริการเมธาโดนในเรือนจำ ทว่าการแลกเปลี่ยนเข็มยังคงขาดแคลนอย่างมาก

ประเทศเวียดนามเริ่มให้บริการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนเมธาโดนระยะยาวกับผู้ต้องขังเป็นครั้งแรก เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาการติดยาเสพติดและการแพร่ของไวรัสที่ติดต่อกันทางเลือด เช่นเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้ต้องขัง
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นที่เมืองหลวงฮานอยเมื่อสามเดือนก่อนที่เรือนจำฝูเซิน ตามข้อกำหนดของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งสนับสนุนโครงการนี้ โดยมีแผนที่จะขยายโครงการในลักษณะคล้ายกันนี้ไปยังเรือนจำอื่นๆด้วย เช่นเรือนจำแถ่งซวน ซึ่งอยู่ภายในเมืองหลวงเช่นกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริการสาธารณะของประเทศเวียดนามประมาณการว่ามีผู้ต้องขังราวร้อยละ 30 ที่ใช้ยาเสพติด ในปี 2000 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่ได้มีการเก็บบันทึก พบว่าผู้ต้องขังร้อยละ 28 ในประเทศเวียดนามตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี
ในขณะที่ไม่มีข้อมูลระดับประเทศที่ชัดเจนสำหรับอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้ต้องขัง มีการประมาณการว่าผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดร้อยละ 74 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีตามรายงานขององค์การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดนานาชาติ (Harm Reduction International :HRI) และมีผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดเกือบร้อยละ 20 ที่มีเชื้อเอชไอวี
การเริ่มต้นนำการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนเมธาโดนมาใช้ในเรือนจำนับว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภูมิภาคนี้ที่มีเพียงประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซียที่ให้บริการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนอนุพันธิ์ฝิ่น (opioid substitution therapy :OST) รวมถึงเมธาโดนโดยเป็นการให้บริการในเรือนจำในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมก็ยังคงมีความต้องการโครงการอื่นๆอีกมากเพื่อที่จะแก้ปัญหาการแพร่ของไวรัสที่ติดต่อกันทางเลือดควบคู่ไปกับการขยายการให้บริการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนเมธาโดน
ตัวอย่างเช่น โครงการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยังคงขาดหายไปจากทัณฑสถานในประเทศเวียดนาม และควรจะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ในการต่อสู้กับการแพร่โรคติดต่อเพราะจะเป็นการช่วยลดอัตราการใช้เข็มร่วมกันได้อย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของการแพร่เชื้อไวรัส
การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้เป็นการไม่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของประเทศเวียดนาม จากข้อมูลทั่วโลกพบว่า การบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนอนุพันธิ์ฝิ่นมีการดำเนินงานในเรือนจำเพียง 43 ประเทศเท่านั้น จากข้อมูลในปี 2014 มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีน้อยกว่า 80 ประเทศที่ให้บริการนี้ในชุมชน
ยิ่งไปกว่านั้น การเริ่มต้นให้บริการเมธาโดนในเรือนจำยังควบคู่ไปกับการขยายการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนอนุพันธิ์ฝิ่นในประเทศอีกด้วย ระหว่างปี 2012 และ 2014 ประเทศเวียดนามได้เพิ่มจำนวนโครงการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนอนุพันธิ์ฝิ่นจาก 41 แห่ง เป็น 80 แห่ง
อย่างไรก็ตาม หากประเทศเวียดนามมีความจริงจังที่จะแก้ปัญหาเรื่องเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด จะต้องทำให้มั่นใจว่าชุดบริการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาจะมีการให้บริการอย่างครอบคลุม แม้จะมีการขยายบริการบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทนอนุพันธิ์ฝิ่น หากแต่บริการด้านการแลกเปลี่ยนเข็มกลับลดลง และจำนวนเข็มและกระบอกฉีดที่กระจายให้กับผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดก็ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2012 ตามรายงานของ HRI การเริ่มต้นให้บริการบำบัดด้วยสารทดแทนเมธาโดนระยะยาวในเรือนจำนับเป็นสิ่งที่ควรได้รับการชมเชย หากแต่จะต้องมีการผลักดันภาครัฐเพื่อให้มั่นใจว่าการให้บริการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในระดับประเทศจะสนองกับความต้องการที่มีอยู่ได้ทั้งหมด
*ดวงตากำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์สาธารณสุข โดยเน้นประเด็นการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในประเทศไทย ตอนนี้ทำงานประจำด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ควบคู่ไปกับการเป็นนักแปล